Tudjman, Franjo (1922–1999)

นายฟรานโย ทอจมัน (พ.ศ. ๒๔๖๕–๒๕๔๒)

 ฟรานโย ทอจมัน เป็นประธานาธิบดีคนแรก (ค.ศ. ๑๙๙๐–๑๙๙๙) ของโครเอเชีย ซึ่งแยกตัวเป็นเอกราชจากสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia–SFRY) ที่สถาปนาขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สิ้นสุดลง เขาเคยเป็นนายทหารการเมือง (political commissar) แห่งยูโกสลาเวีย แต่ต่อมาเป็นนักชาตินิยมโครแอตนักประวัติศาสตร์การทหาร อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักการเมือง เขาชื่นชมยอซีป บรอซหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำยูโกสลาเวีย และเป็นคนโปรดของตีโต จนได้รับยศนายพลเมื่ออายุเพียง ๓๗ ปี ครั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโครเอเชีย ทอจมันปกครองประเทศแบบอำนาจนิยมและเพิกเฉยต่อหลักสิทธิมนุษยชนทุกด้าน ทั้งสั่งปราบปรามและข่มขู่ผู้คนในประเทศและนอกประเทศ จนทำให้ทอจมันถูกเพ่งเล็งว่าคล้ายคลึงกับสลอบอดาน มีโลเซวิช (Slobodan Milosevic)* ผู้นำเซอร์เบีย เป็นที่เข้าใจกันว่าทั้งคู่ร่วมมือกันทำลายล้างประชากรในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina)* เพื่อแบ่งดินแดนกันและผนวกเข้ากับประเทศของแต่ละฝ่าย

 ทอจมันเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ที่เมืองเวลีโก ตรโกวีตเซ (Velico Trgovisce) ในเขตภูเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครซาเกรบ(Zagreb) ในราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน [(Kingdom of the Serbs, Croats and Slovenes)* ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เปลี่ยนชื่อเป็นยูโกสลาเวีย] ครอบครัวเป็นตระกูลชาวไร่ขนาดเล็กซึ่งตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ และทำธุรกิจสถานพักแรมด้วย เขาเป็นบุตรของสเตปัน (Stjepan) และจัสตินา (Justina) บิดามีบทบาทแข็งขันในพรรคชาวนาโครแอต (Croatian Peasant Party–HSS) ซึ่งเป็นพรรคสายกลางปีกขวาที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองมากที่สุดของโครเอเชีย และใน ค.ศ. ๑๙๓๖ สเตปันได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเวลีโก ตรโกวีตเซด้วย ทอจมันเป็นบุตรชายคนโตในจำนวนพี่น้อง ๕ คน ซึ่ง ๒ คนแรกเป็นหญิงแต่เสียชีวิตในวัยเยาว์ ขณะที่ทอจมันมีอายุเพียง๗ปีมารดาก็เสียชีวิตอย่างกะทันหันจากการคลอดบุตรคนที่ ๕ ใน ค.ศ. ๑๙๒๙

 ในวัยเด็ก ทอจมันทำหน้าที่เป็นเด็กประจำโบสถ์แต่ไม่เคร่งศาสนาเช่นเดียวกับบิดา เขาเรียนในโรงเรียนของหมู่บ้านระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙–๑๙๓๓ และมีผลการเรียนดีเยี่ยม เขาหยุดเรียนเป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนเข้าเรียนต่อระดับมัธยมที่นครซาเกรบใน ค.ศ. ๑๙๓๕ จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๓ ขณะเป็นนักเรียน บิดาเคยพาเขาไปพบผู้นำพรรคชาวนาแห่งโครเอเชีย แต่ทอจมันกลับเลื่อมใสอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่มีตีโตเป็นผู้นำและกำลังปลุกระดมโฆษณาจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในนครซาเกรบ และในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ทอจมันก็ถูกจับกุมจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่เฉลิมฉลองการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ของสหภาพโซเวียต

 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ กองทัพฝ่ายอักษะได้เข้ารุกรานและยึดครองยูโกสลาเวีย และได้ประกาศสลายราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ชาวโครแอตซึ่งไม่พอใจกับการอยู่ร่วมกับชาวเซิร์บที่คอยกีดกันคนเชื้อชาติอื่นในราชอาณาจักรนี้อยู่แล้วจึงฉวยโอกาสประกาศจัดตั้งรัฐโครเอเชียอิสระ (Independent State of Croatia) ขึ้นที่นครซาเกรบ ในวันที่ ๑๐ เมษายน อีก ๔ วันต่อมา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* และเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำเยอรมนีและอิตาลี ก็ประกาศรับรองความเป็นเอกราชของโครเอเชีย อันเต ปาเวลิช (Ante Pavelić) หัวหน้ากลุ่มฟาสซิสต์หัวรุนแรงในโครเอเชียได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลหุ่นของฝ่ายอักษะเขาร่วมมือและสนับสนุนประเทศฝ่ายอักษะอย่างแข็งขัน และถือโอกาสสังหารชาวเซิร์บในประเทศไปเป็นจำนวนมาก การบริหารของปาเวลิชก่อความแตกแยกในโครเอเชีย ชาวโครแอตและชาวเซิร์บจำนวนไม่น้อยจึงเข้าร่วมในกองทัพปลดแอกแห่งชาติยูโกสลาเวีย [National Liberation Army หรือชื่อเป็นทางการว่ากองทัพปลดแอกแห่งชาติและหน่วยพาร์ติซันแห่งยูโกสลาเวีย (National Liberation Army and Partisan Detachments of Yugoslavia)] ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่ายูโกสลาฟพาร์ติซัน (Yugoslav Partisans) หรือพาร์ติซัน อันเป็นหน่วยต่อต้านนาซีเยอรมันที่ชี้นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย มีตีโตเป็นผู้บัญชาการ

 เมื่อมีข่าวว่าขบวนการอุสตาเช (Ustase) ขบวนการปฏิวัติแห่งโครเอเชีย (Croatian Revolutionary Movement) ซึ่งเป็นชาตินิยมจัดแบบฟาสซิสต์จะร่วมมือกับปาเวลิชกวาดล้างพวกคอมมิวนิสต์ ทอจมันจึงหนีออกจากกรุงซาเกรบไปสมทบกับหน่วยกำลังที่มีตีโตเป็นผู้บัญชาการโดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของกองกำลังซาเกรบที่ ๑๐ ของพาร์ติซัน ทั้งบิดาและน้องชาย ๒ คนก็เข้าร่วมกับฝ่ายพาร์ติซันและน้องชายคนสุดท้องได้ถูกสังหารในช่วงสงครามกลางเมืองครั้งนี้ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มที่ฝักใฝ่ฟาสซิสต์กับกลุ่มที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ในช่วงแรกทอจมันทำหน้าที่พิมพ์และเผยแพร่งานเขียนของพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อมาเป็นเจ้าหน้าที่พรรคในกองกำลังท้องถิ่น เขาเดินทางไปมาระหว่างกรุงซาเกรบกับภูมิภาคซากร์เค (Zagorje) โดยใช้เอกสารปลอมที่ระบุว่าเขาเป็นหน่วยพิทักษ์โครเอเชีย (Croatian Home Guard) ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ทอจมันถูกฝ่ายอุสตาเชจับกุมแต่ก็สามารถหลบหนีจากสถานีตำรวจได้ ส่วนบิดาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist Council) ที่จัดตั้งโดยพวกพาร์ติซันในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๓

 ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๔ เมื่อตีโตขอให้โครเอเชียส่งคนไปทำงานในสำนักเลขาธิการเพื่อการพิทักษ์ประชาชนแห่งสหพันธรัฐ (Federal Secretariat for People’s Defence) ทอจมันได้รับเลือกให้ส่งตัวไปและได้รับยศพันตรี เขาเดินทางถึงกรุงเบลเกรดในต้น ค.ศ. ๑๙๔๕ และทำหน้าที่ด้านวิชาการโดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของสารานุกรมกองทัพ ในเล่มที่ ๓ เขาเขียนความเรียงว่าด้วยสงครามปลดปล่อยในโครเอเชียเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕และคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายมีชัยในการจัดระเบียบยูโกสลาเวียใหม่จนทำให้มีการสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ทอจมันก็เข้าประจำการในกองทัพแห่งประชาชนยูโกสลาฟ(Yugoslav People’sArmy–JNA) ส่วนบิดาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในวันที่ ๒๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๖ บิดาซึ่งมีความเครียดสูงได้กระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการยิงตัวเองพร้อมภรรยา แต่ทอจมันไม่เคยยอมรับเรื่องนี้ และมีผู้กล่าวว่าฝ่ายอุสตาเชและตำรวจลับยูโกสลาฟอยู่เบื้องหลัง

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๓ ทอจมันได้เลื่อนยศเป็นพันเอกและเป็นพลตรีในวัย ๓๗ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๕๙ นับเป็นนายพลที่มีอายุน้อยที่สุดในกองทัพ และเป็นเรื่องแปลกที่ชาวโครแอตจะได้รับตำแหน่งสูงในกองทัพ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเซิร์บหรือไม่ก็มอนเตเนโกร เขาอยู่กับกองทัพยูโกสลาเวียจนถึงสิ้นค.ศ. ๑๙๖๑ ระหว่างนั้นได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยการทหารระดับสูง (Higher Military Academy) ในกรุงเบลเกรดด้วย เพราะทอจมันก็เหมือนกับอีกหลายคนที่ไม่ได้รับการศึกษาทางด้านการทหารโดยตรง

 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ทอจมันเป็นทหารที่กรุงเบลเกรดนั้น เขาค่อย ๆ พัฒนาความเป็นนักชาตินิยมหัวรุนแรงชาวโครแอต เพราะเขาผิดหวังกับการที่ผู้บังคับบัญชาลังเลที่จะเลื่อนยศชั้นนายพลให้ และจากการที่เขาได้พบปะกับบรรดานายพลชาวเซิร์บและมอนเตเนโกร และนักประวัติศาสตร์การทหาร บุคคลเหล่านี้ดูแคลนการมีส่วนร่วมของโครเอเชียในการต่อสู้ของพาร์ติซันที่ผ่านมาซึ่งทำให้เขาไม่พอใจจนถึงกับแต่งหนังสือใน ค.ศ. ๑๙๕๗ เรื่อง War Against War เมื่อเวลาผ่านไป เขายิ่งขุ่นเคืองกับอดีตกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านนาซีในเซอร์เบียและมอนเตเนโกรมากขึ้น ในที่สุดทอจมันก็แตกหักกับกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น ใน ค.ศ. ๑๙๖๑ เมื่อ วลาดีมีร์ บาคาริค (Vladimir Bakaric) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในโครเอเชียเชิญทอจมันซึ่งเคยเป็นทหารการเมืองมาเป็นผู้อำนวยการสถาบันเพื่อประวัติศาสตร์แห่งขบวนการชนชั้นแรงงานแห่งโครเอเชีย (Institute for the History of Workers’ Movement of Croatia) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในกรุงซาเกรบ สถาบันนี้มีวัตถุประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ และปกป้องผลประโยชน์ของโครเอเชีย เขาจึงรับคำเชิญเป็นผู้อำนวยการสถาบันและตัดสินใจออกจากราชการทหารหลังจากพำนักในกรุงเบลเกรดมาเป็นเวลา ๑๕ ปี ทอจมันเดินทางกลับไปยังโครเอเชียและทุ่มเทความสนใจไปกับการวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองและการทหาร

 หลังจากนั้น เขาสนใจค้นคว้าเกี่ยวกับภูมิศาสตร์การเมือง และใน ค.ศ. ๑๙๖๓ ได้เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซาเกรบด้วย โดยสอนวิชาการปฏิวัติสังคมนิยมและประวัติศาสตร์ชาติร่วมสมัย เขาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “The Causes of the Crisis of the Monarchist Yugoslavia from Its Inception in 1918 to the Collapse in 1946” แต่มหาวิทยาลัยซาเกรบไม่ยอมรับโดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาไม่เพียงพอที่จะเป็นดุษฎีนิพนธ์สาขาประวัติศาสตร์ เขาจึงต้องนำผลงานไปเสนอที่มหาวิทยาลัยอีกแห่งที่เมืองซาดาร์ (Zadar) มหาวิทยาลัย ณ ที่นั้นยอมรับและอนุมัติปริญญาให้ใน ค.ศ. ๑๙๖๕ อย่างไรก็ดี ปัญหาการลอกเลียนผลงานคนอื่นในวิทยานิพนธ์ดังกล่าวทำให้ทอจมันถูกบังคับให้ออกจากการเป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ใน ค.ศ. ๑๙๖๗ ลิวโบ โบบัน (Ljubo Boban) นักประวัติศาสตร์โครเอเชียกล่าวหาว่าทอจมันลอกเนื้อหาถึง ๔ ใน ๕ ของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา เรื่อง “The Creation of the Socialist Yugoslavia” โดยโบบันแสดงหลักฐานจากบทความของเขาที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Forum ด้วย

 นอกจากถูกถอดถอนจากการเป็นผู้อำนวยการสถาบันแล้ว ความคลั่งไคล้ชาติโครแอตของทอจมันยังทำให้เขาถูกสั่งให้ยุติการสอนที่มหาวิทยาลัยซาเกรบด้วย และถูกขับออกจากพรรคคอมมิวนิสต์โครเอเชียเพราะตีพิมพ์แถลงการณ์ที่โจมตีนโยบายการให้รวมภาษาโครแอตและภาษาเซิร์บเข้าด้วยกันในเชิงวรรณกรรม การพำนักและทำงานที่กรุงซาเกรบซึ่งเป็นศูนย์กลางของความคิดชาตินิยมของชาวโครแอตทำให้ทอจมันค่อย ๆ ละทิ้งความชื่นชอบตีโตและแนวคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียเพราะเห็นว่าครอบงำและบงการโดยพวกเซิร์บ เขากลับไปศึกษาสงครามโลกครั้งที่ ๒ อย่างละเอียด และบอกตนเองว่าข้อเสียของขบวนการฝักใฝ่ฟาสซิสต์หรืออุสตาเชนั้นถูกแต่งเติมอย่างมาก โครเอเชียนั้นตกเป็นเหยื่อของแผนการของพวกเซิร์บกับคอมมิวนิสต์ที่ต้องการปิดกั้นเสรีภาพและเอกลักษณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมคาทอลิกของชาวโครแอตต่างหาก (เซิร์บเป็นคริสเตียนออร์ทอดอกซ์)

 ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๒ ทอจมันเกิดขัดแย้งกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐของโครเอเชียอันเนื่องมาจากการไปเข้าร่วมกับขบวนการฤดูใบไม้ผลิแห่งโครเอเชีย (Croatian Spring Movement) ซึ่งเรียกร้องการปฏิรูปประเทศเมื่อเจ้าหน้าที่พยายามดำเนินคดีกับทอจมันโดยตั้งข้อหาเป็นจารชน ซึ่งโทษจองจำปรกติอยู่ระหว่าง ๑๕–๒๐ ปี และต้องทำงานหนัก แต่ด้วยความช่วยเหลือของประธานาธิบดีตีโตในการลดหย่อนโทษให้เขา เขาถูกโทษจำคุกเป็นเวลา ๒ ปี แต่ในที่สุดแล้วทอจมันได้รับโทษอยู่เพียง ๙ เดือนเท่านั้น หลังพ้นโทษเขาดำรงชีวิตอย่างเงียบ ๆ ด้วยเงินบำนาญนายทหาร อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๗๗ เขาเดินทางไปสวีเดนโดยใช้พาสปอร์ตสวีเดนปลอมเพื่อไปพบกับชาวโครแอตอพยพที่นั่น ทอจมันสามารถรอดพ้นจากสายตาเจ้าหน้าที่ตำรวจยูโกสลาฟได้ แต่แล้วเขาไปให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์สวีเดนเกี่ยวกับชาวโครแอตในสวีเดน ดังนั้นเมื่อกลับมายูโกสลาเวีย เขาถูกไต่สวนอีกครั้งหนึ่งในต้น ค.ศ. ๑๙๘๑ และถูกตัดสินให้จำคุกอีกครั้งเป็นเวลา ๓ ปี และอีก ๕ ปี ถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในที่พักอาศัยอย่างไรก็ดี ในที่สุดทอจมันก็ชดใช้โทษเพียง ๑๑ เดือนด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ

 เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ประเทศยุโรปตะวันออกล่มสลาย รัฐบาลของสาธารณรัฐต่าง ๆ ในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียจึงจัดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงฤดูใบไม้ผลิของ ค.ศ. ๑๙๙๐ ทอจมันซึ่งเข้าสู่การเมืองด้วยการจัดตั้งพรรคสหภาพประชาธิปไตยโครเอเชีย (Croatian Democratic Union–HDZ) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๙ ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาครั้งแรกในโครเอเชียที่ประกอบด้วยผู้สมัครจากหลายพรรคการเมืองทอจมันรณรงค์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่ายูโกสลาเวียควรจัดการปกครองในรูปแบบสมาพันธรัฐ แต่การกล่าวถึงอิสรภาพและอดีตอันรุ่งโรจน์ของโครเอเชียทำให้ชาวเซิร์บซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในโครเอเชียไม่พอใจ พรรคของทอจมันจึงถูกสื่อของพวกเซิร์บโจมตี แต่พรรคของเขาก็มีชัยชนะ โดยได้รับเสียงสนับสนุนประมาณร้อยละ ๖๐ ทอจมันจึงได้เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐสังคมนิยมโครเอเชีย (Socialist Republic of Croatia หรือ SR Croatia) ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ แต่ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็เร่งดำเนินการที่จะแยกโครเอเชียให้เป็นอิสระจากสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย รัฐบาลใหม่ของเขานำธงและตราประเทศดั้งเดิมมาใช้ซึ่งไม่มีสัญลักษณ์ของระบอบคอมมิวนิสต์ อีกทั้งถอดคำว่า “สังคมนิยม” ออกจากชื่อประเทศด้วย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากโดยเฉพาะในวงการตำรวจที่ผู้บังคับบัญชามักเป็นชาวเซิร์บและเป็นคอมมิวนิสต์ก็ถูกปลดจากงาน โดยเหตุผลที่ว่าชาวเซิร์บมีจำนวนเพียงร้อยละ ๑๒ ในโครเอเชีย ความรู้สึกชาตินิยมของทอจมันยังทำให้เขาพยายามกำจัดลักษณะ “ต่างชาติ” หรือ “ยูโกสลาฟ” ที่ปะปนอยู่ในภาษาโครแอตออกไป ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนชื่อสกุลเงิน ถนนหนทาง จัตุรัสต่าง ๆ และแม้กระทั่งชื่อทีมฟุตบอลให้เป็นภาษาโครแอตด้วย

 การดำเนินการของทอจมันทำให้พวกเซิร์บในโครเอเชียโกรธแค้นและจัดตั้งสภาแห่งชาติเซอร์เบียขึ้นในโครเอเชียในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ อีกทั้งจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการให้สิทธิปกครองตนเองของชาวเซิร์บในโครเอเชียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ ซึ่งทอจมันเห็นว่าผิดกฎหมายเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นในเขตที่ประชากรเป็นชาวเซิร์บซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณเมืองคนิน (Knin) ทางตอนในของภูมิภาคดัลเมเชีย (Dalmatia) ในเดือน สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ มีการประกาศอธิปไตยและสิทธิปกครองตนเองของชาวเซิร์บในดินแดนโครเอเชีย ซึ่งเรียกว่า การปฏิวัติไม้ซุง (Log Revolution) เพราะมีการใช้ไม้ซุงมาเป็นแนวกั้นเขต ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ ขณะที่รัฐสภาโครเอเชียให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชาวเซิร์บในเมืองคนินก็ประกาศสิทธิปกครองตนเองด้วย

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๙๑ ผู้นำสาธารณรัฐต่าง ๆ ในสหพันธรัฐประชุมกันหลายครั้งเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ภายในยูโกสลาเวีย เช่น ทอจมันและสลอบอดานมีโลเซวิช ได้พบปะหารือกันในเดือนมีนาคม ทอจมันและผู้นำสโลวีเนียตกลงว่าจะยินยอมอยู่ร่วมกันแบบเดิมแต่ใช้รูปแบบสมาพันธรัฐแต่ผู้นำเซอร์เบียก็ปฏิเสธข้อเสนอ การปะทะกันทางอาวุธระหว่างชาติพันธุ์ในยูโกสลาเวียก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทอจมันจึงตัดสินใจที่จะเรียกร้องการเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ของโครเอเชียการลงประชามติได้จัดขึ้นในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ซึ่งชาวเซิร์บในโครเอเชียคว่ำบาตรการลงประชามตินี้ ร้อยละ ๘๓.๕๖ ของผู้ลงประชามติเห็นชอบให้โครเอเชียแยกตัวออกจากสหพันธ์ฯ ในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑ ทั้งโครเอเชียและสโลวีเนียได้ประกาศเอกราชจากสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียชาวเซิร์บในโครเอเชียต่อต้านการแยกตัวออก ทำให้ตลอดฤดูร้อน การปะทะทางอาวุธที่เคยเกิดขึ้นประปรายก็ขยายตัวกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างชาวเซิร์บที่มีกองทัพยูโกสลาเวียหนุนหลังกับชาวโครแอต จึงเป็นอันว่าทอจมันจำต้องนำโครเอเชียเข้าสู่สงครามประกาศอิสรภาพ

 ในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ทอจมันปลุกเร้าให้ประชากรในโครเอเชียทั้งหมดรวมตัวกันต่อต้านนโยบายจักรวรรดินิยมเซอร์เบียใหญ่ (Greater Serbian Imperialism) หลังจากนั้นอีก ๒ วัน กำลังทางอากาศของยูโกสลาฟก็ทิ้งระเบิดบันสกีวอรี (Banski Dvori) ซึ่งเป็นทำเนียบรัฐบาลโครเอเชียในกรุงซาเกรบ แต่ทอจมันปลอดภัย วันที่ ๘ ตุลาคม รัฐสภาโครเอเชียจึงประกาศตัดขาดความเกี่ยวพันที่ยังคงเหลืออยู่กับยูโกสลาเวีย ต่อมา ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน พวกเซิร์บในโครเอเชียก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐคราจีนาแห่งชาวเซิร์บ (Republic of SerbianKrajina)ครอบครองพื้นที่๑ใน๓ของประเทศโดยมีเมืองคนินเป็นเมืองหลวง จากนั้นจนสิ้นปีการสู้รบระหว่าง ๒ ฝ่ายดำเนินไป แม้ฝ่ายเซิร์บโครเอเชียที่เซอร์เบียหนุนหลังทำความตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลทอจมันถึง ๑๖ ครั้ง แต่แต่ละครั้งอยู่ได้นานไม่เกิน ๑ วัน

 การตกลงหยุดยิงมีผลอย่างจริงจังใน ค.ศ. ๑๙๙๒ เมื่อสงครามได้ย้ายเข้าสู่ดินแดนของสาธารณรัฐบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาแล้ว แม้ต้องผ่านความยุ่งยากอย่างมาก แต่ในที่สุดประชาคมยุโรป (European Community–EC)* ก็ให้การรับรองเอกราชของโครเอเชียเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๒ และโครเอเชียก็ได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ (United Nations)* ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ก่อนหน้านั้นในเดือนเมษายนปีเดียวกันนี้ สหรัฐอเมริกาก็รับรองสถานะความเป็นเอกราชของบรรดาอดีตสาธารณรัฐสังคมนิยมของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย ได้แก่ โครเอเชีย สโลวีเนีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาพร้อม ๆ กัน

 หลังจากนั้น ทอจมันถูกนานาชาติวิจารณ์มากที่นำประเทศเข้าสู่สงครามโครแอต-บอสเนีย (CroatBosnia War)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๔ ทอจมันจึงถูกกดดันให้ลงนามในความตกลงวอชิงตัน (Washington Agreement) กับประธานาธิบดีอาลียา อิเซตเบโกวิช (Alija Izetbegović) แห่งบอสเนียเพื่อรื้อฟื้นความเป็นพันธมิตรระหว่างบอสเนียกับโครเอเชียอีกครั้ง และในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๕ ทอจมันก็ร่วมลงนามในความตกลงสันติภาพเดย์ตัน (Dayton Peace Agreement)* ซึ่งยุติสงครามบอสเนีย (Bosnian War)* โดยมีสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นคนกลางยุติศึกในคาบสมุทรบอลข่าน หลังจากกองกำลังโครเอเชียสามารถกู้ดินแดนที่เซิร์บจัดตั้งสาธารณรัฐคราจีนาคืนมาในกลาง ค.ศ. ๑๙๙๕ จน ชาวเซิร์บกว่า ๑๗๐,๐๐๐ คน ต้องอพยพหนีไปยังบอสเนียและเซอร์เบีย และมีการพบศพอีกหลายร้อยศพที่ถูกยิงที่ศีรษะรวมทั้งตามหลุมที่ไม่ปรากฏชื่ออย่างไรก็ดี ชาวมุสลิมในบอสเนียไม่เชื่อนักว่าโครเอเชียจะออกไปจากดินแดนแม้ทอจมันลงนามในความตกลงเดย์ตันแล้ว เพราะมีเหตุการณ์ที่เป็นข่าวครึกโครมว่าในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่กรุงลอนดอน ทอจมันได้วาดรูปแผนที่ประเทศบอสเนียขึ้น และลากเส้นแบ่งเป็น ๒ ส่วน ครึ่งหนึ่งเขียนคำว่า โครเอเชีย อีกครึ่งเขียนคำว่า เซอร์เบีย

 ทอจมันได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีทั้งใน ค.ศ. ๑๙๙๒ และใน ค.ศ. ๑๙๙๗ ซึ่งครั้งหลังนี้ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างชาติวิพากษ์กระบวนการเลือกตั้ง เพราะมีข่าวการข่มขู่และการซื้อตัวนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และการที่รัฐบาลควบคุมสื่อทั้งหมด มีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์และรายการโทรทัศน์อยู่เนือง ๆ อีกทั้งทอจมันก็ปกครองแบบกุมอำนาจเพียงผู้เดียวมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาสะสมความมั่งคั่งให้แก่ตนและผู้สนับสนุนทางการเมืองอากัปกิริยาของเขาที่วางท่าก็ก่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและนอกประเทศ การนิยมสวมใส่เสื้อผ้าโก้หรูสีขาวออกงานเหมือนจะเลียนแบบตีโต การใช้เครื่องบินไอพ่นส่วนตัว หรูหราและราคาสูงแทนที่เครื่องบินโดยสารพาณิชย์ก็ถูกเพ่งเล็งเพราะฐานะการเงินของประเทศล่อแหลมจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

 อย่างไรก็ดี สุขภาพของเขาเสื่อมโทรมลงในปลายทศวรรษ ๑๙๙๐ เขาปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๙ ฟรานโย ทอจมัน อยู่ในตำแหน่งจนถึงแก่อสัญกรรม ณ กรุงซาเกรบเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ ขณะอายุ ๗๗ ปี ด้วยโรคมะเร็งในช่องท้อง เขาได้รับการวินิจฉัยโรคที่ศูนย์การแพทย์ทหารวอลเตอร์รีด (Walter Reed Army Medical Center) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พิธีศพของเขาจัดขึ้นที่มหาวิหารแห่งกรุงซาเกรบก่อนทำพิธีฝังที่สุสานมีโรกอย (Mirogoj) ซึ่งมีชื่อเสียงด้านความสวยงามของยุโรป บารมีของทอจมันยังคงปรากฏอยู่มากทั้งในโครเอเชียและบอสเนีย-เฮอร์เซโก วีนาในเขตที่ชาวโครแอตอาศัยอยู่ ดังมีการตั้งชื่อถนนจัตุรัส โรงเรียนในเมืองหลายแห่งตามชื่อของเขา รวมทั้งสนามบินนานาชาติแห่งกรุงซาเกรบด้วย

 ในด้านชีวิตส่วนตัว ทอจมันสมรสกับอังคีซา ซุมบาร์ (Ankica Zumbar) เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ณ ที่ว่าการนครเบลเกรด โดยใช้รูปแบบของคอมมิวนิสต์ที่เน้นความสำคัญของแนวปฏิบัติฝ่ายรัฐเหนือพิธีทางศาสนาตามกฎหมายใหม่ของรัฐบาลยูโกสลาเวีย ทั้งคู่แยกย้ายกันกลับไปทำงานเมื่อพิธีการสิ้นสุด ทอจมันมีบุตรชาย ๒ คน คนหนึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อีกคนเป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของโครเอเชีย และมีบุตรสาว ๑ คน ที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ.



คำตั้ง
Tudjman, Franjo
คำเทียบ
นายฟรานโย ทอจมัน
คำสำคัญ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติไม้ซุง
- ความตกลงเดย์ตัน
- ความตกลงสันติภาพเดย์ตัน
- ทอจมัน, ฟรานโย
- นาซี
- ประชาคมยุโรป
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยูโกสลาเวีย
- สงครามโครแอต-บอสเนีย
- สงครามบอสเนีย
- สงครามประกาศอิสรภาพ
- สงครามปลดปล่อย
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สลอบอดาน มีโลเซวิช
- สหประชาชาติ
- สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย
- สหภาพโซเวียต
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1922–1999
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๕–๒๕๔๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-